โคเอ็นไซม์คิวเทน (CoQ 10)

โคเอ็นไซม์คิวเท็น หรือ โคคิวเท็น หรือ ยูบิควินโนน เป็นชื่อของสารอาหารชนิดเดียวกัน โคเอ็นไซม์คิวเท็นจัดเป็นสารชีวภาพสำคัญที่พบในทุกเซลล์ของร่างกาย ซึ่งโดยปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เองจากกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) ร่วมกับวิตามิน 8 ชนิดและแร่ธาตุอีกจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากอายุ 20 ปี ปริมาณการสร้างโคเอ็นไซม์คิวเท็นก็จะลดลงต่ำกว่าระดับที่ร่างกายต้องการ

คุณสมบัติที่สำคัญของโคเอ็นไซม์คิวเท็นคือ การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างทางเคมีที่มีลักษณะเด่นในการจับกับอนุมูลอิสระในกระแสเลือด นอกจากนี้คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของโคเอ็นไซม์คิวเท็นก็คือ สำคัญต่อกระบวนการสร้างพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย

แหล่งที่พบโคเอ็นไซม์คิวเท็น ในอาหาร เช่น เนื้อวัว ตับ ไต หัวใจ ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ไข่ ผักขม ถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง เมล็ดงา

หน้าที่ของโคเอ็นไซม์คิวเท็น

  • เป็นแหล่งพลังงานระดับเซลล์ที่สำคัญ ช่วยสร้างพลังงานให้กับเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและสมอง
  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิว
  • ซ่อมแซมผิวที่เสื่อมสภาพ ชะลอริ้วรอยก่อนวัย
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • เหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสเตติน (Statins) เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวมีผลยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์ คิวเทนในร่างกายไปด้วย ซึ่งทำให้ปริมาณโคเอนไซม์ คิวเทนในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว

โคเอ็นไซม์คิวเท็นและประโยชน์ต่อร่างกาย
สุขภาพหัวใจ : โคเอ็นไซม์คิวเท็นจะเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ และอาจมีประโยชน์ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคเหงือก : การรับประทานโคเอ็นไซม์คิวเท็นในขนาด 60 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถช่วยลดการอักเสบทุกชนิดที่เกิดจากโรคเหงือก
ชะลอความแก่ : เนื่องจากทุกเซลล์ของร่างกายต้องการพลังงานเป็นองค์ประกอบที่จะให้เซลล์ขับเคลื่อนได้ ดังนั้นหากเซลล์ได้รับพลังงานที่แจกจ่ายโดยโคเอ็นไซม์คิวเท็นครบถ้วน ก็จะทำให้เซลล์ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อาการเมื่อร่างกายขาดโคเอนไซม์ คิวเทน
มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงผิดจังหวะ ชีพจรเร็ว เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ชาปลายมือ ปลายเท้า

ปริมาณที่แนะนำ
50 – 100 มก.ต่อวันสำหรับบำรุงผิว
100 – 300 มก.ต่อวันสำหรับบำรุงกล้ามเนื้อหัวใจ