ขอซื้อยาล้างตาครับ
เป็นประโยคที่พบได้บ่อยในร้านขายยา ซึ่งเราต้องคิดว่า “ลูกค้าต้องมีปัญหาที่ดวงตาแน่นอน”
“เอ๊ะไม่ทราบว่ามีอาการอะไรที่ดวงตาเหรอครับ” (ถามโดยเภสัชกร)
ซึ่งมักจะได้คำตอบที่หลากหลาย
เช่น คันเคืองตา , น้ำตาไหล, แสบตา, ตาแดง, ฝุ่นเข้าตา ,ไม่รู้มีอะไรเข้าไปในตา, ตาแห้ง เอาไปล้างตาให้ดวงตาสะอาด (แฟนมีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์) , ตากุ้งยิง , ต้อเนื้อ , มีขี้ตาเขรอะ ฯลฯ โอ้โห!ยาล้างตามีสรรพคุณมากมาย ตามที่ผู้ซื้อเข้าใจเหรอครับก่อนอื่น อยากให้พวกเรามาดูว่า น้ำยาล้างตามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ?
ส่วนประกอบของน้ำยาล้างตาประกอบด้วย
น้ำบริสุทธิ์, สารควบคุมความเป็นกรดด่าง, สารควบคุมสภาพตึงตัว, วัตถุกันเสีย & อาจมีสารประกอบอื่น ๆ เช่น โซเดียมคลอไรด์ (Sodium.chloride) ,กรดบอริค (Boric acid) , เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) (วัตถุกันเสีย) , คลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine) เป็นต้น สารประกอบของยาล้างตา อาจแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์
สรุปดูจากส่วนประกอบของยาล้างตาแล้ว
ยาล้างตาจึงเป็นแค่สารละลายที่ปลอดเชื้อ มีสรรพคุณไว้ใช้สำหรับชำระล้างฝุ่น , ผง รวมทั้งสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ให้ออกจากดวงตาเท่านั้น ซึ่งเมื่อฝุ่นผงได้ออกจากดวงตาแล้ว อาการระคายเคืองตาจะค่อย ๆ ลดลง แต่ยาล้างตาก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการคันระคายเคืองตาโดยตรงดังนั้นผลิตภัณฑ์ยาล้างตาจึงเหมาะที่จะใช้ในกรณีฝุ่นผงเข้าตา หรือในกรณีที่รู้สึกเหมือนมีอะไรติดค้างในดวงตาเท่านั้น โดยจุดประสงค์ใช้เพื่อชำระล้างเศษฝุ่นผงให้ออกจากดวงตาอย่างเดียว จึงไม่ควรนำยาล้างตามาใช้ในกรณีอื่นที่นอกเหนือจากฝุ่นผงเข้าตาเช่น คันเคืองตาหรือแสบตาที่ไม่ได้เกิดจากฝุ่นผงเข้าตา , ตากุ้งยิง ,ตาแห้ง ,ต้อเนื้อหรือเอาไปล้างดวงตาให้สะอาดโดยไม่มีอาการผิดปกติอะไร หรือแม้กระทั่งมีฝุ่นผงเข้าตามาหลายวัน แต่ตอนนี้มีแต่อาการตาแดง , คันเคืองตา,แสบตาน้ำตาไหลหรือมีขี้ตามากผิดปกติ กรณีนี้ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาแล้วควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ภาวะฝุ่นเข้าตาอันตรายมั้ย
ภาวะฝุ่นเข้าตาเป็นภาวะที่มีสิ่งแปลกปลอมเช่น ฝุ่นผง, ผงปูน , ทราย , ผงเครื่องสำอาง หรือ แม้กระทั่งขนตา บังเอิญถูกพัดปลิวหรือกระเด็นเข้าไปติดในบริเวณเยื่อบุตา ซึ่งโดยปกติขนตาของเราจะมีหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันเศษฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ดวงตาอยู่แล้ว แต่ในบางโอกาศเศษฝุ่นผงก็อาจบังเอิญปลิวหรือหล่นเข้าไปในดวงตาได้เช่นกันได้แก่ อาชีพงานที่เสี่ยง เช่น อาชีพก่อสร้าง , คนที่ต้องทำงานใต้ท้องรถ ,วินมอร์เตอร์ไซด์รวมทั้งผู้โดยสารที่ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยหรือแว่นตา , ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีลมพัดแรง , ในกรณีแต่งหน้า ฯลฯ ในกรณีที่มีเศษฝุ่นเข้าสู่ดวงตา ร่างกายของเราจะมีกลไกในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ด้วยการผลิตน้ำตาออกมา เพื่อชำระล้างเศษฝุ่นผงดังกล่าวให้ออก ในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเศษฝุ่นผงนั้นให้ออกมาได้ เศษฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะติดค้างอยู่ในบริเวณเยื่อบุตา ร่างกายของเราจะป้องกันตนเองโดยปล่อยสารแพ้ , สารอักเสบออกมา จนกระตุ้นทำให้รู้สึกคันเคืองตา , ตาแดง , มีน้ำตาไหล&รู้สึกเหมือนกับมีอะไรติดค้างอยู่ในดวงตา ในกรณีเศษฝุ่นผงไปติดอยู่ใต้เปลือกตาบน อาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดในขณะกระพริบตาได้ กรณีนี้ไม่ควรไปขยี้ที่ดวงตา เพราะจะมีโอกาสทำให้ดวงตายิ่งอักเสบ & แดงมากยิ่งขึ้น หรือถ้ารุนแรงกว่านั้น จะทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้สรุปแล้ว ภาวะเศษฝุ่นผงเข้าตา อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ (ถ้าไม่ไปขยี้ตารุนแรง) เพียงแต่ทำให้รู้สึกระคายเคืองตาในระยะสั้น ๆ เท่านั้นเอง
ในกรณีเศษฝุ่นผงเข้าตา หรือรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรยังติดค้างอยู่ในดวงตา อาจลองกำจัดเศษฝุ่นผงด้วยวิธีต่อไปนี้
– ในกรณีฝุ่นผงเข้าตา ต่อมน้ำตาจะถูกกระตุ้นให้สร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติ ให้ใช้วิธีกระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำตาที่ถูกกระตุ้นออกมาช่วยชะล้างขับเศษฝุ่นผงให้ออกจากตาเร็วขึ้น แต่ห้ามไปขยี้ที่ตาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวกระจกตาถลอกเป็นแผลได้
– ในกรณีใช้วิธีกระพริบตาแล้วยังไม่ได้ผล อาจล้างตาด้วยน้ำยาล้างตา ในกรณีล้างตาจนเศษฝุ่นออกจากตาแล้ว ถ้าตายังแดงมากหรือยังรู้สึกคันเคืองตามาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร&ควรพักผ่อนสายตาควบคู่กันไปด้วย กรณีนี้ไม่ควรไปสนใจที่ดวงตามากเกินไป เช่น เอากระดาษทิชชูไปเช็ดบ่อย ๆ หรือเอามือไปสัมผัสบ่อย ๆ เพราะจะมีโอกาสทำให้ติดเชื้อที่ดวงตาได้ง่าย
– หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล (เศษฝุ่นผงยังคงติดค้างอยู่) ควรปิดตาข้างที่มีฝุ่นเข้าตาด้วยผ้าปิดตาหรือผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
ขั้นตอนการใช้ยาล้างตา
1. ก่อนใช้น้ำยาล้างตาให้ดูวันหมดอายุที่ข้างขวดก่อน
2. ล้างมือให้สะอาด & ล้างถ้วยล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตา ก่อนที่จะนำมาใช้
3. เปิดขวดน้ำยาล้างตา เทน้ำยาฯลงในถ้วยล้างตาตามปริมาณขอบเส้นที่กำหนดในถ้วย
4. ก้มหน้าลงให้ดวงตาแนบสนิทกับถ้วย & ดันถ้วยเบา ๆให้สนิทกับเบ้าตา
5. เงยหน้าขึ้นในขณะที่ถ้วยยังครอบตาอยู่ เพื่อให้น้ำยาฯไปสัมผัสกับดวงตาโดยตรง จากนั้นให้ลืมตาแล้วกรอกตาไปมา ≈ 15 วินาที เพื่อช่วยให้น้ำยาฯชะล้างเศษฝุ่นให้ออกจากดวงตาเร็วขึ้น
6. ก้มหน้าลง นำถ้วยออกจากดวงตาแล้วเทน้ำยาฯที่ใช้แล้วทิ้งไป ถ้าล้างตาซ้ำ ควรเปลี่ยนน้ำยาฯใหม่ (ไม่ควรนำน้ำยาฯที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำอีก)
7. ล้างถ้วยน้ำยาล้างตาที่ใช้แล้วให้สะอาด & เช็ดให้แห้งทุกครั้ง และเก็บในที่สะอาด จากนั้นปิดฝาขวดน้ำยาล้างตาให้สนิท
หมายเหตุ :
– ในกรณีใส่คอนแทคเลนส์ ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกมา ก่อนใช้น้ำยาล้างตา
– เก็บขวดน้ำยาล้างตาให้พ้นมือเด็ก โดยเก็บในอุณหภูมิห้องให้ห่างจากความร้อน , แสงแดด , ความชื้น
สรุปวัตถุประสงค์ในการใช้น้ำยาล้างตา
เราจะใช้น้ำยาล้างตาก็ต่อเมื่อมีเศษฝุ่นผงเข้าตา หรือมีอะไรติดค้างอยู่ในดวงตาเท่านั้น ไม่ควรใช้ในกรณีนอกเหนือจากนี้
ข้อควรระวังการใช้น้ำยาล้างตา
– ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาร่วมกับผู้อื่น
– ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาไปใช้แทนน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์
– ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตามาล้างดวงตาเป็นประจำโดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือเพื่อทำความสะอาดดวงตา เนื่องจากในภาวะปกติร่างกายจะผลิตน้ำตา (ซึ่งประกอบด้วยน้ำ , ไขมัน
มูซิน & สารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค) ออกมาช่วยหล่อเลี้ยง & เคลือบดวงตาให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอเป็นการป้องกันอาการตาแห้งไปในตัว การล้างตาบ่อย ๆโดยไม่มีความจำเป็นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเพราะจะไปชะล้างเอาน้ำตาที่ดีออกไป ทำให้ดวงตาขาดความชุ่มชื้นจนมีโอกาสทำให้เกิดโรคตาแห้ง & เพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่ตาได้ง่าย
อายุการใช้งาน
ถ้าเปิดขวดน้ำยาล้างตาแล้ว ควรใช้ภายใน 3 เดือน
ถึงตอนนี้ ผู้ที่จะซื้อน้ำยาล้างตามาใช้เองคงจะทราบดีว่า น้ำยาล้างตามีวัตถุประสงค์ใช้เพื่ออะไร ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นที่จะไปซื้อน้ำยาล้างตามาล้างเพื่อทำความสะอาดดวงตาทั้งที่ไม่มีความผิดปกติใด ๆ ที่ดวงตาเลย
ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่ https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm