รับมือโรคกระเพาะ โรคฮิตคนทำงาน

โรคกระเพาะอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนทำงาน ตั้งแต่พนักงานบริษัทจนถึงระดับผู้บริหาร จากไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ทานข้าวไม่ตรงเวลา และที่สำคัญคือความเครียดจากการทำงาน ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคยอดฮิตของ พนักงานออฟฟิศ ขนาดนี้ ไบโอฟาร์มขอพาคุณมาทำความรู้จักและวิธีป้องกันตัวเองจากโรคนี้กันค่ะ

โรคกระเพาะคืออะไร?
โรคกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) ที่จริงแล้วมาจากชื่อเต็มว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร คือการที่มีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหารถูกทำลายโดยน้ำย่อย หรือสารระคายเคืองอื่นๆ

แล้วโรคกระเพาะเกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคกระเพาะที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คงหนีไม่พ้นการทานอาหารไม่ตรงเวลา จนทำให้กรดในน้ำย่อยกัดกระเพาะจนเป็นแผล ทำให้เราปวดท้องทั้งตอนที่หิว และตอนอิ่ม รวมถึงความเครียดที่ทำให้กระเพาะบีบตัวและผลิตน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ

แต่ใครจะรู้ว่า มากกว่าครึ่ง ของคนที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะ เกิดจากการติดเชื้อ เอชไพโลไร (H. Pylori) ในกระเพาะ ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้จากคนสู่คน โดยเชื้อนี้จะเข้าไปทำให้ระบบในกระเพาะไม่สมดุล และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ โรคกระเพาะยังสามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาแก้อักเสบที่อาจทำให้กระเพาะระคายเคือง รวมถึงพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุของกระเพาะอาหาร และอีกหนึ่งสาเหตุก็คือ พันธุกรรมนั่นเอง

อาการแบบไหนที่เรียกว่าโรคกระเพาะ
อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารในระยะเริ่มต้น ได้แก่ ปวดท้อง แสบท้อง โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ในบางรายจะไม่สามารถผายลมได้ และปวดท้องรุนแรงหลังทานอาหาร หรือดื่มน้ำ เมื่อถึงขั้นสาหัสอาจอาเจียนเป็นเลือด หรือมีอุจจาระเป็นสีดำ น้ำหนักลดลงเนื่องจากอาการเบื่ออาหาร หรืออาจมีภาวะลำไส้อุดตัดร่วมด้วย เพราะแผลในกระเพาะอาหารสามารถก่อให้เกิดพังผืด และทำให้ลำไส้เล็กตีบได้

เป็นโรคกระเพาะแล้วต้องทำอย่างไร
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการเสี่ยงข้างต้น…

  • ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
  • ควรงดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ซื้อยาแก้ปวดต่างๆ ทานเอง เพราะอาจไประคายเคืองแผลในกระเพาะมากขึ้น
  • ทานยาลดกรด หรือยาเคลือบกระเพาะเพื่อบรรเทาอาการ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ที่จะทำให้กระเพาะผลิตกรดมากขึ้น ควบคู่ไปด้วยเพื่อการรักษาที่ยั่งยืน

กลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นพนักงานออฟฟิศ จากพฤติกรรมทานข้าวไม่ตรงเวลา และต้องพบเจอกับความเครียดจากการทำงาน เมื่อรู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว ควรปรับพฤติกรรมทั้งเวลาทานข้าวและการจัดการกับความเครียดทันทีที่รู้ตัว อย่าโหมงานหนักจนต้องใช้เงินเดือนไปกับการรักษาสุขภาพ

ไม่ว่างานจะยุ่งขนาดไหน ก็อย่าลืมดูแลตัวเอง และเพื่อนร่วมงานกันด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใยจาก Biopharm

 

 

ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่   https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/

ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm