ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ
โรคข้อเสื่อม
“ข้อเสื่อม” โรคยอดฮิตของผู้สูงวัย
เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ รู้เท่าทัน รีบป้องกันก่อนอาการลุกลาม
โรคข้อเสื่อม นับเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ อัตราของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม อาการของโรคจะดำเนินไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ส่งผลให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ไม่สะดวก เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
หากอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ข้อเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ หรือ เกิดการสึกกร่อนบางลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งมักจะเกิดกับข้อที่ต้องรองรับน้ำหนักค่อนข้างมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ฯลฯ โดยกระดูกอ่อนผิวข้อนี้จะถูกทำลายลงอย่างช้า ๆ จนมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างของข้อเข่า เกิดน้ำสะสมในข้อเข่าเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ข้อบวม พบกระดูกงอกผิดปกติที่ขอบหรือที่มุมข้อ พบกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อเข่าหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปอย่างจำกัด โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะรำคาญกับอาการปวด หรือไม่สบายตรงข้อที่เสื่อมในขณะที่ใช้งาน เช่น ขณะยืนหรือเดิน และอาการปวดนี้จะดีขึ้นเมื่อได้พักการใช้งาน รวมทั้งยังอาจพบอาการฝืดตึงที่ข้อเป็นช่วงสั้น ๆ ในช่วงเช้า หรือ ภายหลังที่อยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ เช่น หลังจากนั่งขับรถนาน ๆ นั่งยองนาน ๆ ฯลฯ
ช่วงอายุที่มักเกิดภาวะข้อเสื่อม
มักพบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคน (40 ปีขึ้นไป) และจะพบโรคนี้มากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวัยสูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่าง เช่น อาชีพที่ทำงานหนัก ความอ้วน ฯลฯ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมความสมดุลของเซลล์กระดูกอ่อนได้ ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาวะข้อเสื่อมในที่สุด ส่วนในวัยหนุ่มสาว เซลล์กระดูกอ่อนยังแข็งแรงและทนทานต่อแรงตึงแรงกดได้ดีกว่าผู้สูงอายุ
สาเหตุการเกิดข้อเสื่อม
ความเสื่อมของข้อที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย
พบข้อเสื่อมได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่อาจมีผู้สูงอายุบางรายที่ไม่เกิดภาวะข้อเสื่อม ส่วนใหญ่พบในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย 2 – 3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวกับฮอร์โมน รวมไปถึงผู้มีน้ำหนักตัวเกิน (อ้วน) ผู้ที่ทำกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเกิดจากความบกพร่องของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
รวมทั้งเกิดจากกรรมพันธุ์
ความเสื่อมของข้อที่ทราบสาเหตุ
เป็นผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุจนมีการบาดเจ็บที่ข้อ เส้นเอ็น มีการใช้งานที่ข้อมากเกินไป เช่น อาชีพแม่บ้าน การเล่นกีฬา ฯลฯ นอกจากนี้ข้อเสื่อมอาจเป็นร่วมกับโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เก๊าท์ ข้ออักเสบติดเชื้อ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น อ้วน ฯลฯ
การเกิดข้อเสื่อมในอาชีพต่างๆ
ข้อที่เสื่อม มักเป็นได้ทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็น ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อนิ้วมือ ข้อตะโพก ซึ่งในการเกิดนั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการใช้งาน ได้แก่ ผู้หญิง (แม่บ้าน) มีความเสี่ยงที่ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ผู้ชายมีความเสี่ยงที่ข้อตะโพก นักกีฬาเบสบอลมีความเสี่ยงที่ข้อไหล่ ข้อศอก นักวิ่งนักบาสเก็ตบอลมีความเสี่ยงที่ข้อเข่า นักยกน้ำหนักมีความเสี่ยงที่ข้อเข่า เป็นต้น
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคข้อเสื่อม
ระยะแรก
อาการจะเริ่มปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เวลาเดิน โดยเฉพาะขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า ฯและอาการปวดจะดีขึ้นเมื่อได้พักการใช้ข้อ พบอาการฝืดตึง หรือขัดที่ข้อเป็นช่วงสั้น ๆ ในตอนเช้า หรือภายหลังที่อยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เช่น หลังจากนั่งขับรถนาน ๆ นั่งพับเพียบ หรือคุกเข่านาน ๆ ฯลฯ พบเสียงดังกรอบแกรบภายในข้อขณะเคลื่อนไหวข้อเข่า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ หรือเอ็นที่หนาตัวขึ้น หรือเกิดจากความขรุขระของกระดูกอ่อนผิวข้อที่ถูกทำลายไป มักพบอาการข้อเสื่อมในข้อเข่าข้างที่ถนัดหรือข้างที่ใช้งานบ่อยก่อน ถ้าผู้ป่วยไม่ดูแลป้องกันต่อมาอีกไม่นาน ข้อเข่าอีกข้างก็จะเริ่มเสื่อมตามมา
ระยะรุนแรง
อาการปวดข้อจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะเวลาเดินหรือขยับข้อ บางครั้งอาจพบปวดช่วงกลางคืน อาจคลำพบกระดูกงอกบริเวณข้างข้อ หรือที่ขอบมุมข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่ จะพบมีอาการปวดหรือเสียวที่กระดูกสะบ้า ถ้ามีอาการอักเสบที่ข้อจะทำให้ข้อบวมและร้อน แพทย์จะตรวจพบน้ำคั่งอยู่ในช่องว่างระหว่างข้อ ถ้าข้อเสื่อมมานาน จะทำให้การเหยียดข้อเข่า หรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุดนอกจากนี้อาจพบกล้ามเนื้อรอบข้อลีบลงหรืออ่อนแรง ข้อเข่าโก่ง ข้อเข่าหลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป จะทำให้การเดินและการใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่รพ. แพทย์จะฉายรังสี x – ray ภาพจากฟิล์ม x – ray จะเห็นช่องว่างระหว่างข้อจะแคบลง
แนวทางการรักษาโรคข้อเสื่อม
แม้ว่าข้อเสื่อมจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม แต่ก็มีวิธีการรักษาหลากหลายวิธี ซึ่งเป้าหมายในการรักษาก็คือ พยายามลดอาการปวดอักเสบของข้อให้ทุเลาเร็วที่สุด รวมไปถึงการดูแลป้องกันข้อที่เริ่มเสื่อมไม่ให้เสื่อมมากไปกว่านี้ เพื่อให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
การรักษาด้วยยา มีหลายรูปแบบทั้งชนิดทาภายนอก ฉีดเข้าข้อ รับประทาน ยาบางตัวสามารถปรึกษากับเภสัชกรในร้านยาได้ แต่บางตัวจะต้องจ่ายตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งเป้าหมายรักษาคือช่วยบรรเทาอาการปวดอักเสบ บวมที่ข้อให้หายเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมานกับการปวด ช่วยควบคุมไม่ให้เป็นมากไปกว่านี้
การรักษาโดยไม่ใช้ยา เน้นการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อให้ถูกหลัก การควบคุมน้ำหนัก การบริหารกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยพยุง เพื่อช่วยประคับประคองด้วยการลดแรงกดที่ข้อเท้า ร่วมกับการทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น จะเป็นผลทำให้ร่างกายค่อย ๆ ซ่อมแซมส่วนของข้อที่เสื่อมไปได้ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเสื่อมมากขึ้น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีนั่ง นอน ยืน เดิน
การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในกรณีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมรุนแรง
วิธีดูแลร่างกายและข้อรู้เท่าทันป้องกันก่อนอาการลุกลาม
มีวิธีดูแลร่างกายและข้อเพื่อช่วยให้ห่างไกลจากโรคข้อเสื่อม โดยคำแนะนำจาก ทีมเภสัชกร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์คุณภาพชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้
- การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ไม่ทำอะไรที่ผิดท่า เช่น นั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น พับเพียบ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ นั่งหลังงอ ก้มคอทำงานนาน ฯลฯ
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อ ดังนั้นการที่จะเริ่มฝึกบริหารกล้ามเนื้อใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน และควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่มีผลเสียต่อข้อ เช่น ว่ายน้ำ การเดินในน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน ฯลฯ
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมป้องกันข้อเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
แม้ว่าอาการของโรคข้อเสื่อม จะมีสาเหตุมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมการใช้งานบริเวณข้อที่หนักเกินไป ซึ่งหากเกิดภาวะข้อเสื่อมแล้ว ก็ยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะข้อเสื่อมได้เลยทีเดียว ดังนั้นเราจึงควรรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรง เพื่อเป็นหลักประกันว่าในวันข้างหน้าเราจะยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปนานๆ
ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่ https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm
วิธีง่ายๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดแคลเซียม
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากร่างกายมีปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอ จะทำให้กระบวนการต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น แคลเซียมจึงเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่ควรขาด แต่เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมจากสารอาหารภายนอก เพื่อทดแทนแคลเซียมที่ร่างกายนำไปใช้ หรือ ที่ร่างกายขับทิ้งไป
ประโยชน์ของแคลเซียม
หากพูดถึงประโยชน์ของแคลเซียม สิ่งแรกที่หลายคนทราบกันดี นั่นคือ ทำให้กระดูกและฟันมีความแข็งแรง โดยมีหน้าที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของกระดูกและฟัน และช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
นอกจากนี้ แคลเซียม ยังเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยให้การแข็งตัวของเลือดเป็นไปตามปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยไปกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท ทำให้การส่งสัญญาณกระแสประสาทได้เร็วและสมบูรณ์ขึ้น ทั้งยังรักษาระบบภูมิคุ้มกันและควบคุมความสมดุลของความเป็นกรดและด่างภายในร่างกาย ควบคุมการยืดตัวและหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ รวมไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยช่วยให้หัวใจทำงานและเต้นเป็นปกติ
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์แคลเซียมเองได้ จึงต้องได้รับแคลเซียมจากสารอาหารภายนอก แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมสูง ได้แก่ นมสด, นมเปรี้ยว, เนยแข็ง, ไข่, โยเกิร์ต, ปลาตัวเล็กที่เคี้ยวได้ทั้งตัว, กุ้งแห้ง, เต้าหู้, ผักใบเขียว, ถั่วต่าง ๆ และ เมล็ดงา เป็นต้น
จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายขาดแคลเซียม
หากร่างกายขาดแคลเซียม จะทำให้เกิด โรคกระดูกพรุน, ปวดตามข้อ, ชัก, กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก, ตะคริว, ชา, หัวใจหยุดเต้น, เลือดแข็งตัวช้า ฯลฯ
สาเหตุและพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม
สาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ ภาวะลำไส้อักเสบ ส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมเสียไป ลำไส้มีความเป็นด่างสูงเกินไป ภาวะขาดวิตามินดี เกิดโรคที่ตับและไต ทำให้การดูดซึมของแคลเซียมลดลง การตัดต่อมพาราไทรอยด์ออก การเข้าสู่วัยสูงอายุ,วัยทอง รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป
ขนาดของแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวันแบ่งตามช่วงอายุ
ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขนาดของแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน โดยแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
อายุ 0 – 6 เดือน ควรได้รับแคลเซียม 210 (มิลลิกรัม/วัน)
อายุ 7 เดือน – 1 ปี ควรได้รับแคลเซียม 270 (มิลลิกรัม/วัน)
อายุ 1 – 3 ปี ควรได้รับแคลเซียม 500 (มิลลิกรัม/วัน)
อายุ 4 – 8 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน)
อายุ 9 – 18 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 (มิลลิกรัม/วัน)
อายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน)
อายุ 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียม 1,000 (มิลลิกรัม/วัน)
หญิงตั้งครรภ์ อายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน) หญิงให้นมบุตร อายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน)
หากร่างกายได้รับแคลเซียมมากเกินความจำเป็น
สำหรับปริมาณของแคลเซียมที่ร่างกายได้รับ ไม่ควรเกิน 2,000 (มิลลิกรัม/วัน) ซึ่งผลของการที่ร่างกายได้รับแคลเซียมเกิน จะทำให้ท้องผูก, แคลเซียมในปัสสาวะสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในไต, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีอาการซึมและไม่รู้สึกตัว ฯลฯ
วิธีดูแลตัวเองอย่างง่ายๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดแคลเซียม
ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
วิธีปฏิบัติเพื่อดูแลร่างกายให้ไม่ขาดแคลเซียม เป็นการช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกให้ช้าลง ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน มีเคล็ดลับง่ายๆ ดังนี้
รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดื่มนมเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักตัว เช่น การเดิน, การวิ่ง, เต้นแอโรบิค, กระโดดเชือก, รำมวยจีน, เต้นรำ ฯลฯ ช่วยให้มีมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น รักษาน้ำหนักของร่างกายอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยอย่าให้รูปร่างผอมเกินไป เนื่องจากคนรูปร่างผอมจะมีมวลกระดูกน้อย ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย นอกจากนี้ในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นวันละ 10 – 15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ควรพาร่างกายไปรับแสงแดดอ่อน ๆ เพื่อให้ร่างกายได้สังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการสร้างกระดูก
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น ไม่ควรกินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง ชา, กาแฟ, ช็อคโกแลต ในปริมาณมาก เพราะ แอลกอฮอล์และคาเฟอีนจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมทางลำไส้เล็ก
งดสูบบุหรี่ งดอาหารรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง รวมไปถึงระวังการใช้ยาบางชนิดที่มีสเตียรอยด์ ซึ่งส่งผลเสียต่อกระดูก และช่วยเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อมวลกระดูก คือ ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม
ทางเลือกของผู้ที่ต้องการเติมแคลเซียมให้กับร่างกาย
ในภาวะปัจจุบัน บางคนอาจไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้มากพอ และเข้าหลักเกณฑ์เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน อาจพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างมวลกระดูก ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา โดยควรปรึกษากับเภสัชกรในร้านขายยาก่อนเพื่อความปลอดภัย และได้ประสิทธิผล
ขอบคุณสาระน่ารู้ จากทีมเภสัชกร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์คุณภาพชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่ https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm
ขอซื้อยาล้างตาครับ
เป็นประโยคที่พบได้บ่อยในร้านขายยา ซึ่งเราต้องคิดว่า "ลูกค้าต้องมีปัญหาที่ดวงตาแน่นอน"
"เอ๊ะไม่ทราบว่ามีอาการอะไรที่ดวงตาเหรอครับ" (ถามโดยเภสัชกร)
ซึ่งมักจะได้คำตอบที่หลากหลาย
เช่น คันเคืองตา , น้ำตาไหล, แสบตา, ตาแดง, ฝุ่นเข้าตา ,ไม่รู้มีอะไรเข้าไปในตา, ตาแห้ง เอาไปล้างตาให้ดวงตาสะอาด (แฟนมีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์) , ตากุ้งยิง , ต้อเนื้อ , มีขี้ตาเขรอะ ฯลฯ โอ้โห!ยาล้างตามีสรรพคุณมากมาย ตามที่ผู้ซื้อเข้าใจเหรอครับก่อนอื่น อยากให้พวกเรามาดูว่า น้ำยาล้างตามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ?
ส่วนประกอบของน้ำยาล้างตาประกอบด้วย
น้ำบริสุทธิ์, สารควบคุมความเป็นกรดด่าง, สารควบคุมสภาพตึงตัว, วัตถุกันเสีย & อาจมีสารประกอบอื่น ๆ เช่น โซเดียมคลอไรด์ (Sodium.chloride) ,กรดบอริค (Boric acid) , เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) (วัตถุกันเสีย) , คลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine) เป็นต้น สารประกอบของยาล้างตา อาจแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์
สรุปดูจากส่วนประกอบของยาล้างตาแล้ว
ยาล้างตาจึงเป็นแค่สารละลายที่ปลอดเชื้อ มีสรรพคุณไว้ใช้สำหรับชำระล้างฝุ่น , ผง รวมทั้งสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ให้ออกจากดวงตาเท่านั้น ซึ่งเมื่อฝุ่นผงได้ออกจากดวงตาแล้ว อาการระคายเคืองตาจะค่อย ๆ ลดลง แต่ยาล้างตาก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการคันระคายเคืองตาโดยตรงดังนั้นผลิตภัณฑ์ยาล้างตาจึงเหมาะที่จะใช้ในกรณีฝุ่นผงเข้าตา หรือในกรณีที่รู้สึกเหมือนมีอะไรติดค้างในดวงตาเท่านั้น โดยจุดประสงค์ใช้เพื่อชำระล้างเศษฝุ่นผงให้ออกจากดวงตาอย่างเดียว จึงไม่ควรนำยาล้างตามาใช้ในกรณีอื่นที่นอกเหนือจากฝุ่นผงเข้าตาเช่น คันเคืองตาหรือแสบตาที่ไม่ได้เกิดจากฝุ่นผงเข้าตา , ตากุ้งยิง ,ตาแห้ง ,ต้อเนื้อหรือเอาไปล้างดวงตาให้สะอาดโดยไม่มีอาการผิดปกติอะไร หรือแม้กระทั่งมีฝุ่นผงเข้าตามาหลายวัน แต่ตอนนี้มีแต่อาการตาแดง , คันเคืองตา,แสบตาน้ำตาไหลหรือมีขี้ตามากผิดปกติ กรณีนี้ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาแล้วควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ภาวะฝุ่นเข้าตาอันตรายมั้ย
ภาวะฝุ่นเข้าตาเป็นภาวะที่มีสิ่งแปลกปลอมเช่น ฝุ่นผง, ผงปูน , ทราย , ผงเครื่องสำอาง หรือ แม้กระทั่งขนตา บังเอิญถูกพัดปลิวหรือกระเด็นเข้าไปติดในบริเวณเยื่อบุตา ซึ่งโดยปกติขนตาของเราจะมีหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันเศษฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ดวงตาอยู่แล้ว แต่ในบางโอกาศเศษฝุ่นผงก็อาจบังเอิญปลิวหรือหล่นเข้าไปในดวงตาได้เช่นกันได้แก่ อาชีพงานที่เสี่ยง เช่น อาชีพก่อสร้าง , คนที่ต้องทำงานใต้ท้องรถ ,วินมอร์เตอร์ไซด์รวมทั้งผู้โดยสารที่ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยหรือแว่นตา , ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีลมพัดแรง , ในกรณีแต่งหน้า ฯลฯ ในกรณีที่มีเศษฝุ่นเข้าสู่ดวงตา ร่างกายของเราจะมีกลไกในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ด้วยการผลิตน้ำตาออกมา เพื่อชำระล้างเศษฝุ่นผงดังกล่าวให้ออก ในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเศษฝุ่นผงนั้นให้ออกมาได้ เศษฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะติดค้างอยู่ในบริเวณเยื่อบุตา ร่างกายของเราจะป้องกันตนเองโดยปล่อยสารแพ้ , สารอักเสบออกมา จนกระตุ้นทำให้รู้สึกคันเคืองตา , ตาแดง , มีน้ำตาไหล&รู้สึกเหมือนกับมีอะไรติดค้างอยู่ในดวงตา ในกรณีเศษฝุ่นผงไปติดอยู่ใต้เปลือกตาบน อาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดในขณะกระพริบตาได้ กรณีนี้ไม่ควรไปขยี้ที่ดวงตา เพราะจะมีโอกาสทำให้ดวงตายิ่งอักเสบ & แดงมากยิ่งขึ้น หรือถ้ารุนแรงกว่านั้น จะทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้สรุปแล้ว ภาวะเศษฝุ่นผงเข้าตา อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ (ถ้าไม่ไปขยี้ตารุนแรง) เพียงแต่ทำให้รู้สึกระคายเคืองตาในระยะสั้น ๆ เท่านั้นเอง
ในกรณีเศษฝุ่นผงเข้าตา หรือรู้สึกว่าเหมือนมีอะไรยังติดค้างอยู่ในดวงตา อาจลองกำจัดเศษฝุ่นผงด้วยวิธีต่อไปนี้
- ในกรณีฝุ่นผงเข้าตา ต่อมน้ำตาจะถูกกระตุ้นให้สร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติ ให้ใช้วิธีกระพริบตาบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำตาที่ถูกกระตุ้นออกมาช่วยชะล้างขับเศษฝุ่นผงให้ออกจากตาเร็วขึ้น แต่ห้ามไปขยี้ที่ตาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ผิวกระจกตาถลอกเป็นแผลได้
- ในกรณีใช้วิธีกระพริบตาแล้วยังไม่ได้ผล อาจล้างตาด้วยน้ำยาล้างตา ในกรณีล้างตาจนเศษฝุ่นออกจากตาแล้ว ถ้าตายังแดงมากหรือยังรู้สึกคันเคืองตามาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร&ควรพักผ่อนสายตาควบคู่กันไปด้วย กรณีนี้ไม่ควรไปสนใจที่ดวงตามากเกินไป เช่น เอากระดาษทิชชูไปเช็ดบ่อย ๆ หรือเอามือไปสัมผัสบ่อย ๆ เพราะจะมีโอกาสทำให้ติดเชื้อที่ดวงตาได้ง่าย
- หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล (เศษฝุ่นผงยังคงติดค้างอยู่) ควรปิดตาข้างที่มีฝุ่นเข้าตาด้วยผ้าปิดตาหรือผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
ขั้นตอนการใช้ยาล้างตา
1. ก่อนใช้น้ำยาล้างตาให้ดูวันหมดอายุที่ข้างขวดก่อน
2. ล้างมือให้สะอาด & ล้างถ้วยล้างตาด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตา ก่อนที่จะนำมาใช้
3. เปิดขวดน้ำยาล้างตา เทน้ำยาฯลงในถ้วยล้างตาตามปริมาณขอบเส้นที่กำหนดในถ้วย
4. ก้มหน้าลงให้ดวงตาแนบสนิทกับถ้วย & ดันถ้วยเบา ๆให้สนิทกับเบ้าตา
5. เงยหน้าขึ้นในขณะที่ถ้วยยังครอบตาอยู่ เพื่อให้น้ำยาฯไปสัมผัสกับดวงตาโดยตรง จากนั้นให้ลืมตาแล้วกรอกตาไปมา ≈ 15 วินาที เพื่อช่วยให้น้ำยาฯชะล้างเศษฝุ่นให้ออกจากดวงตาเร็วขึ้น
6. ก้มหน้าลง นำถ้วยออกจากดวงตาแล้วเทน้ำยาฯที่ใช้แล้วทิ้งไป ถ้าล้างตาซ้ำ ควรเปลี่ยนน้ำยาฯใหม่ (ไม่ควรนำน้ำยาฯที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำอีก)
7. ล้างถ้วยน้ำยาล้างตาที่ใช้แล้วให้สะอาด & เช็ดให้แห้งทุกครั้ง และเก็บในที่สะอาด จากนั้นปิดฝาขวดน้ำยาล้างตาให้สนิท
หมายเหตุ :
- ในกรณีใส่คอนแทคเลนส์ ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกมา ก่อนใช้น้ำยาล้างตา
- เก็บขวดน้ำยาล้างตาให้พ้นมือเด็ก โดยเก็บในอุณหภูมิห้องให้ห่างจากความร้อน , แสงแดด , ความชื้น
สรุปวัตถุประสงค์ในการใช้น้ำยาล้างตา
เราจะใช้น้ำยาล้างตาก็ต่อเมื่อมีเศษฝุ่นผงเข้าตา หรือมีอะไรติดค้างอยู่ในดวงตาเท่านั้น ไม่ควรใช้ในกรณีนอกเหนือจากนี้
ข้อควรระวังการใช้น้ำยาล้างตา
- ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาไปใช้แทนน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์
- ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตามาล้างดวงตาเป็นประจำโดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือเพื่อทำความสะอาดดวงตา เนื่องจากในภาวะปกติร่างกายจะผลิตน้ำตา (ซึ่งประกอบด้วยน้ำ , ไขมัน
มูซิน & สารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค) ออกมาช่วยหล่อเลี้ยง & เคลือบดวงตาให้ดวงตาชุ่มชื้นอยู่เสมอเป็นการป้องกันอาการตาแห้งไปในตัว การล้างตาบ่อย ๆโดยไม่มีความจำเป็นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเพราะจะไปชะล้างเอาน้ำตาที่ดีออกไป ทำให้ดวงตาขาดความชุ่มชื้นจนมีโอกาสทำให้เกิดโรคตาแห้ง & เพิ่มโอกาสการติดเชื้อที่ตาได้ง่าย
อายุการใช้งาน
ถ้าเปิดขวดน้ำยาล้างตาแล้ว ควรใช้ภายใน 3 เดือน
ถึงตอนนี้ ผู้ที่จะซื้อน้ำยาล้างตามาใช้เองคงจะทราบดีว่า น้ำยาล้างตามีวัตถุประสงค์ใช้เพื่ออะไร ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นที่จะไปซื้อน้ำยาล้างตามาล้างเพื่อทำความสะอาดดวงตาทั้งที่ไม่มีความผิดปกติใด ๆ ที่ดวงตาเลย
ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่ https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm
ฝุ่นเข้าตา ทำให้ตาบอดได้ จริงเหรอ?
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อฝุ่นเข้าตา
น้ำยาล้างตาคืออะไร
ขั้นตอนการล้างตา
2. เทน้ำยาฯ ลงในถ้วยล้างตาตามปริมาณขอบเส้นที่กำหนดในถ้วย
3. ก้มหน้าลงให้ดวงตาแนบสนิทกับถ้วย แล้วดันถ้วยเบา ๆให้สนิทกับเบ้าตา
4. เงยหน้าขึ้นในขณะที่ถ้วยยังครอบตาอยู่ เพื่อให้น้ำยาฯไปสัมผัสกับดวงตาโดยตรง จากนั้นให้ลืมตาแล้วกรอกตาไปมา ประมาณ 15 วินาที เพื่อช่วยให้น้ำยาฯชะล้างเศษฝุ่นให้ออกจากดวงตาเร็วขึ้น
5. ก้มหน้าลง นำถ้วยออกจากดวงตาแล้วเทน้ำยาฯที่ใช้แล้วทิ้งไป ถ้าล้างตาซ้ำให้เปลี่ยนน้ำยาฯใหม่ไม่ควรนำน้ำยาฯที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำอีก
หมายเหตุ:
- เก็บขวดน้ำยาล้างตาให้พ้นมือเด็ก โดยเก็บในอุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อน, แสงแดด, และความชื้น
ข้อควรระวังการใช้น้ำยาล้างตา
- ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตาไปใช้แทนน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์
- ไม่ควรใช้น้ำยาล้างตามาล้างดวงตาเป็นประจำโดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือเพื่อทำความสะอาดดวงตา
- ถ้าเปิดขวดน้ำยาล้างตาแล้ว ควรใช้ภายใน 3 เดือน
ทานอาหารที่ช่วยรักษาดวงตา
2. วิตามิน E และ C เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ป้องกันและชะลอการเกิดโรคต้อกระจก ลดอัตราการเกิดจอประสาทตาเสื่อมลง 25% สำหรับคนที่เริ่มเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในช่วงต้น เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา มีรายงานพบว่าการรับประทานวิตามินอีในรูปแบบแอลฟ่า โทโคเฟอรอล ร่วมกับลูทีน (Lutein) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต้อกระจก
3. บิลเบอร์รี่สกัด (Bilberry extract) เป็นสารอาหารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง (Antioxidant) ช่วยให้เส้นเลือดฝอยไม่เปราะหรือแตกง่าย ช่วยการมองเห็นในที่มืด หรือ ที่ที่มีแสงสลัว ๆ ให้ชัดเจนขึ้น ช่วยป้องกันอาการตาบอดกลางคืน (Night Blindness) ป้องกันไม่ให้เซลล์ดวงตาขุ่นมัว อันเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจก นอกจากนี้ยังมีการทดลองในนักบิน โดยให้รับประทาน Bilberry เป็นเวลา 1 เดือน เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน พบว่า นักบินที่ทาน Bilberry สามารถมองเห็นในที่มืดได้ดีกว่านักบินที่ไม่ได้ทาน
4. แอสต้าแซนทีน (Astaxanthin) สกัดจากสาหร่ายสีแดง ฮีมาโตคอกคัส พลูเวียลิส (Haematococcus Pluvialis) เป็นสารในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ มีคุณสมบัติในการเป็น Super Antioxidant หรือสารต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์แรง ดูดซึมได้ทั้งส่วนที่เป็นน้ำและไขมัน กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณเส้นเลือดฝอยที่จอตา ลดอาการเมื่อยล้าของตา
ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่ https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm