ร่างกายมีแคลเซียมมากกว่าเกลือแร่ชนิดอื่นๆ เพราะเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกและฟัน ซึ่งร้อยละ 20 ของแคลเซียมในกระดูกของผู้ใหญ่จะถูกย่อยสลายและสร้างใหม่ขึ้นทุกปี นอกจากนี้แคลเซียมยังทำงานร่วมกับทุกกระบวนการในร่างกาย ดังนั้นหากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็จะดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ ส่งผลให้กระดูกบางและเปราะง่าย
แหล่งอาหารที่สำคัญของแคลเซียมได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ กะหล่ำปลี เมล็ดงา
หน้าที่ของแคลเซียม
- รักษามวลกระดูก
- รักษาจังหวะการเต้นของหัวใจ
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน
- ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทให้เป็นปกติ
อาการเมื่อขาด : นอนไม่หลับ, ตะคริวและกล้ามเนื้อกระตุก, ข้ออักเสบหรือปวดตามข้อต่อ, ฟันผุ, ความดันโลหิตสูง, กระดูกบางและเปราะง่าย, กล้ามเนื้อกระตุก
ปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ : 800 มิลลิกรัมต่อวัน
ข้อควรระวัง : หากรับประทานมากเกินไปเช่น มากกว่า 2,500 มก. อาจก่อให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการท้องผูก และเพิ่มความเสี่ยงของนิ่วในไตอีกด้วย
ข้อควรจำ : สารอาหารหรืออาหารบางประเภทจะไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม เช่น อาหารที่มีกรดออกซาลิกสูง (ผักโขม ชะพลู) หรือ อาหารทรี่มีกรดไฟติก (พบในธัญพืช)