PM 2.5 ที่ทำให้การหายใจ อันตรายกว่าที่คิด
ปัญหามลพิษทางอากาศมักพบในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างแออัด ซึ่งสารมลพิษทางอากาศมี 6 ชนิด ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซโอโซน, PM 10 และ PM 2.5 ที่ช่วงนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า PM 2.5 กันอยู่บ่อยๆ
ซึ่ง PM 2.5 ก็คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง และสามารถอยู่ในอากาศได้นาน เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจแล้ว อาจก่อให้เกิดโรคหรือความผิดปกติของร่ายกายได้ เพราะอนุภาคของ PM 2.5 เล็ก จึงสามารถเข้าไปสู่เนื้อเยื่อปอดและทางเดินหายใจส่วนล่าง และกำจัดออกจากร่างกายได้ยากขึ้น และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอีกด้วย
โดย PM 2.5 มีสาเหตุจากการเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรมการผลิต ควันจากท่อไอเสียของรถยนต์ แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด PM 2.5 ในบรรยากาศคือการเผาไหม้โดยไม่สมบูรณ์ ซึ่งความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความแออัดของแหล่งกำเนิดฝุ่น อุณหภูมิและความชื้นของบรรยากาศก็มีผลด้วยเช่นกัน
เมื่อ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้จะสะสมอยู่ในปอด และแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยระบบไหลเวียนโลหิต ที่เมื่อเข้าสู่เซลล์แล้วจะปล่อยสารพิษที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ PM 2.5 จึงทำให้อวัยวะอื่นๆ เกิดความผิดปกติ และเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ทางเดินหายใจอุดกั้น และการติดเชื้อในระบบหายใจ กำเริบรุนแรงขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้การทำงานของระบบเยื่อบุหลอดเลือดผิดปกติ เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดถูกทำลาย ทำให้แรงดันในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น การไหลเวียนของเลือดถูกรบกวน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อีกทั้งยังทำให้การทำงานของสมองผิดปกติอีกด้วย
ในส่วนของผู้ที่ตั้งครรภ์การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ก็ทำให้มีผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำกว่าปกติ และการเสียชีวิตของทารกแรกคลอด และยังส่งผลต่อเนื่องจนทารกเติบโตขึ้น เพราะอาจจะมีโอกาสพบโรคภูมิแพ้ต่างๆ เช่น โรคหืด โรคผิวหนังภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไวต่อการติดเชื้อในระบบหายใจมากขึ้น และระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
จะเห็นได้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพกับผู้ที่สัมผัสทุกช่วงวัย จึงควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 โดยการลดกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น พื้นที่ใกล้อุตสาหกรรม และสวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมโครเมตรขึ้นไปอย่างน้อยร้อยละ 95 เช่น หน้ากาก N95
อ้างอิงจาก “บทบาทของเภสัชกรชุมชนต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5″ โดย ภก. กิติยศ ยศสมบัติ อาจารย์พิเศษคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวารสารสมาคมเภสัชกรรมชุมชน
ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่ https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/
ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm