Zinc สิ่งที่ขาดไม่ได้ สารอาหารที่ร่างกายต้องการ

 

เคยสงสัยกันบ้างไหม ว่าใน 1 วัน ร่างกายของเราได้รับสารอาหารตรงตามที่ต้องการหรือเปล่า? แต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไร จะน้อย หรือจะมาก เราก็ควรจะดูแลสุขภาพให้ดี หนึ่งในสารอาหารสำคัญสำหรับคนทุกเพศทุกวัยก็คือ ซิงก์ (ธาตุสังกะสี)

ซิงก์เป็นสารอาหารที่ไม่ได้ให้พลังงาน แต่มีหน้าที่สำคัญในการกำกับควบคุมกระบวนการทำงานของร่างกาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะสามารถพบซิงก์ได้ในเกือบจะทุกเซลล์ของร่างกาย เพราะซิงก์มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับเอนไซม์ต่างๆ มากกว่า 300 ชนิด ดังนั้นแล้ว ซิงก์ จึงมีความสำคัญต่ออวัยวะทุกส่วนของร่างกาย

ร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์สารอาหารชนิดนี้ขึ้นมาด้วยตัวเองได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทาน แต่อะไรที่มากไป หรือน้อยไปก็มักไม่ดีนัก ถึงแม้ว่าซิงก์จะมีความสำคัญต่ออวัยวะทุกส่วน เราก็ควรจะเลือกรับในปริมาณที่เหมาะสม และสอดคล้องกับช่วงวัยของเรา เพื่อที่จะให้ร่างกายเกิดความสมดุล

ปริมาณซิงก์ที่เหมาะสมกับร่างกายในแต่ละช่วงวัย

อายุน้อยกว่า 1 ปี               3 – 5        มิลลิกรัม/วัน
อายุ 1 –10 ปี                   10          มิลลิกรัม/วัน
อายุ 11 ปีขึ้นไป                 15          มิลลิกรัม/วัน
สตรีในระยะตั้งครรภ์        20 – 25     มิลลิกรัม/วัน
สตรีในระยะให้นมบุตร     25 – 30     มิลลิกรัม/วัน

“ซิงก์” แร่ธาตุสารพัดประโยชน์
ซิงก์ไม่ได้แค่ป้องกันโรคใดโรคหนึ่ง หรือเป็นประโยชน์ต่อเพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ประโยชน์ของซิงก์นั้นมีหลากหลาย ต่อคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย นอกเหนือจากการช่วยป้องกันโรค ยังช่วยเสริมในเรื่องของความงามอีกด้วย

ประโยชน์ในเด็ก
-กระตุ้นการเจริญเติบโต ในช่วงทารก จนถึงช่วงวัยรุ่น

ประโยชน์ในเพศชาย
-รักษา และป้องกันการเป็นหมัน
-ป้องกันต่อมลูกหมากโต ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก

ประโยชน์ในเพศหญิง
-ป้องกันมะเร็งเต้านม
-ช่วยป้องกันปัญหาระดูผิดปกติ บรรเทาอาการปวดเกร็งอย่างผิดปกติของมดลูกก่อนมีประจำเดือน

ประโยชน์ต่อคนทุกเพศทุกวัย
-เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้ร่างกาย: ลดระยะเวลาการเจ็บป่วย และบรรเทาอาการหวัด ทั้งยังช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
-กระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว
-มีความจำเป็นต่อการสร้าง DNA
-ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของเนื้อเยื่อผิวหนัง ที่เกิดจากผิวไหม้แดด แผลพุพอง และโรคเหงือกบางชนิด
-รักษาสิว
-บำรุงสุขภาพเส้นผม ลดทุกปัญหาของเส้นผม รวมถึงผมหงอกก่อนวัยอันควร
-ปกป้องระบบประสาท

อาหารชนิดใด ที่ให้ซิงก์กับร่างกาย?
ซิงก์มีประโยชน์มากมาย แต่อาหารชนิดไหนที่จะเป็นแหล่งสารอาหารที่เรียกว่า “ซิงก์” กันล่ะ
– อาหารกลุ่มที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ นม เนย ปู กุ้ง ไข่
หอยนางรม
พืชผัก เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดพืช วุ้นเส้นไม่ฟอกขาว งา มันฝรั่ง ผักใบเขียวต่างๆ
ผลไม้ เช่น มะม่วง สับปะรด แอปเปิ้ล

จะเกิดอะไรหากร่างกายไม่ได้รับซิงก์ในปริมาณที่เหมาะสม?
ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าซิงก์เป็นสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในปริมาณที่พอเหมาะพอดี แล้วถ้าหากร่างกายได้รับซิงก์ในปริมาณที่มากไป หรือน้อยไปล่ะ จะส่งผลกระทบอย่างไร?
กรณีที่ได้รับซิงก์มากเกินไป
-มากเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน: ส่งผลต่อระดับคลอเรสเตอรอลที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด
-มากเกินกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน: เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ เกร็งบริเวณกล้ามเนื้อท้อง และเกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร
-มากเกินกว่า 1.5 เท่าของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน: หากเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน สังกะสีจะเข้าไปลดการดูดซึมทองแดงและธาตุเหล็ก ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง

 

กรณีที่ได้รับซิงก์น้อยเกินไป
ร่างกายจะแสดงออกมาด้วยอาการทางผิวหนัง นั่นคือ
-ขนตามร่างกายร่วง ผิวหนังเป็นรอยเขียวฟกช้ำได้ง่าย
-แผลเรื้อรังไม่ยอมหายสักที มีการอักเสบระคายเคืองที่ผิวหนัง
-ผิวแห้งลอกไม่มีความชุ่มชื้น ผิวหยาบกร้าน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อพับ
-ประสาทการรับรสเริ่มด้อยประสิทธิภาพ
-แผลหายช้า
-สำหรับหญิงที่ให้นมบุตร การขาดธาตุสังกะสีจะส่งผลไปถึงการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูกน้อย
รู้กันอย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมเลือกทานสิ่งดีๆ อาหารที่มีประโยชน์ และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดี การรับสิ่งดีๆ เพื่อร่างกายของเราเอง ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถแน่นอนค่ะ

 

 

ติดตามเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ได้ที่   https://www.facebook.com/healthyclub.by.biopharm/

ปรึกษาปัญหาสุขภาพกับ Biopharm ทาง Line Official : @biopharm